คุยเรื่องเพศ กับลูกวัยรุ่นอย่างไร? ให้เข้าใจ ลดโอกาสพลาด

คุยเรื่องเพศ กับลูกวัยรุ่น ต้องเริ่มจากพ่อแม่ อย่าปฎิเสธ อย่าตำหนิเมื่อลูกถามเรื่องเพศ พ่อแม่ควรเปิดรับทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับเพศ ซึ่งทางเราได้จัดแคมเปณเรื่องเพศคุยกันได้ ยิ่งพูด ยิ่งเข้าใจ โอกาสทอง ลดโอกาสพลาด พร้อม 6 ทักษะคุยเรื่องเพศที่พ่อแม่ควรรู้ ได้แก่ รับฟังไม่ตัดสิน  ตั้งคำถามชวนคิด ชื่นชมความคิด เสริมข้อมูลที่เป็นประโยชน์  เชื่อมั่นและเคารพในตัวลูก และเป็นที่พึ่งเมื่อเกิดปัญหา 

6 ทักษะการคุยเรื่องเพศกับลูกวัยรุ่น

ปฎิกิริยาพ่อแม่สำคัญอย่างมาก เมื่อลูกมาคุยเรื่องเพศครั้งแรก พ่อแม่ต้องไม่ปฎิเสธลูก เพราะขณะนี้มีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมากมาย ทั้งข้อมูลดีและไม่ดี พ่อแม่ต้องศึกษาข้อมูลและมาตอบคำถามแก่ลูก คุยกับลูก ซึ่งทางเราเองได้จัดทำเว็บไซต์คุยเรื่องเพศ.com เพื่อเป็นแหล่งข้อมูล ตอบคำถาม เป็นเครื่องมือให้แก่ทั้งเด็กและผู้ปกครองพูดคุยเรื่องเพศในทุกเรื่อง ตอบโจทย์ลดท้องไม่พร้อม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทุกคนจะได้มีทักษะก่อนการคุย

สำหรับ 6 ทักษะการคุยเรื่องเพศกับลูกที่พ่อแม่ควรรู้ มีดังนี้

  1. รับฟังไม่ตัดสิน พ่อแม่ต้องฟังอย่างเข้าใจ ไม่รีบตัดสินว่าสิ่งที่ลูกทำนั้นผิดหรือถูก
  2. ตั้งคำถามชวนคิด การตั้งคำถามจะทำให้เด็กได้ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง
  3. ชื่นชมความคิด ทุกครั้งที่ลูกมีความคิดที่ดี ควรชมเชยให้ลูกได้รู้ว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
  4. เสริมข้อมูลที่เป็นประโยชน์  
  5. เชื่อมั่นและเคารพในตัวลูก
  6. เป็นที่พึ่งเมื่อเกิดปัญหา

สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนไทยในปี2567

น.ส.อรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่าปี 2565 พบว่ามีเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี เพียง 13,023,268 คน และเยาวชนอายุ 18-25 ปี 6,805,099 คน  รวมเด็กและเยาวชนอายุ 0-25 ปี มีประมาณ 19 ล้านคน หรือ 30% ของประเทศเท่านั้น ขณะที่รูปแบบครอบครัวพบว่า ครอบครัวแบบพ่อ แม่ ลูกลดลง

  • “สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชน พบว่า ร้อยละ 10.1 ของเด็กไทยอาศัยอยู่ในครอบครัวที่ต่ำกว่าเส้นยากจน (2,600 บาทต่อเดือน)  ,เด็กกำพร้าจากโควิดเพิ่มขึ้น 487 คน , เด็กถูกกระทำด้วยความรุนแรง เฉลี่ย 52 คนต่อวัน  ,เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศปี 2565  มี 245 คน มาเข้าใช้บริการที่บ้านพักเด็กและครอบครัว  ,เด็กตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรอายุ 10-14 ปี อัตรา 0.9 ต่อพัน และอายุ 15-19 ปี มีอัตรา 24.4 ต่อพัน ,เด็กอายุ 12-17 ปี

คุยเรื่องเพศกับลูก ไม่มีอายุที่น้อยเกินไป 

นายสกล โสภิตอาชาศักดิ์ อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าไม่มีอายุที่น้อยเกินไปที่จะคุยเรื่องเพศกับลูก เพราะเด็กเห็นความแตกต่างของร่างกาย เขาก็อาจจะถาม  พ่อแม่ต้องคุยให้เหมาะสมกับบริบทเด็ก  และการคุยเรื่องเพศสามารถคุยได้หลายมุม  ต้องคุยถึงเพศในใจของพวกเขาด้วย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มีความหลากหลายทางเพศ พ่อแม่มักจะรับไม่ได้ และเสียใจผิดหวังต่อลูก ซึ่งหากพ่อแม่ไม่ยอมรับจะส่งผลต่อสุขภาพจิตของลูกทั้งชีวิต

ต้องมีแพลตฟอร์มออนไลน์ ปลอดภัยให้เด็กเข้าถึงสอบถามเรื่องเพศ

นายซาหดัม แวยูโซ๊ะ เยาวชนจากกลุ่มลูกเหรียง  กล่าวว่า เยาวชนเวลาคุยเรื่องเพศมักจะคุยกับคนสนิทอย่างเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ เพราะรู้สึกปลอดภัย สบายใจ ไม่กดดัน ไม่ถูกตำหนิ  และถ้าดูวงจรชีวิตเยาวชน ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตกับเพื่อน เวลามีปัญหาอะไรจะปรึกษากับเพื่อนเป็นหลัก  โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เยาวชนไม่สามารถพูดคุยเรื่องเพศได้ เพราะถือเป็นเรื่องบาปผิดหลักศาสนา และคนในพื้นที่จะไม่คุยเรื่องนี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

แนะเคล็ดลับคุยเรื่องเพศกับลูกอย่างไร? ให้เข้าใจ

ขณะที่ นายศิริพงษ์ เหล่านุกูล คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวและมีลูกกำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น กล่าวว่ามีลูกชาย 2 คน คนหนึ่งเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น อายุ 11 ปี และอีกคนอายุ 8 ปี ซึ่งตอนนี้ลูกชายคนโตจะไม่ค่อยมาเล่าเรื่องราวในโรงเรียนเหมือนในอดีต เขาค่อนข้างเงียบ เปลี่ยนไปตามวัย และจะเขินอายเวลาเราคุยเรื่องเพศ โดยจุดเริ่มต้นในการคุยเรื่องเพศกับลูก จะเป็นบนสนทนาที่เริ่มจากการเล่าเรื่องของเราตอนเป็นวัยรุ่น เราเรียน เราใช้ชีวิตอย่างไร เราชอบผู้หญิงลักษณะไหน ความรักเราเป็นอย่างไร และค่อยสอบถามเขา ซึ่งการคุยต้องเป็นบรรยากาศสบายๆ บอกเล่าเรื่องราว ไม่ทำให้เขารู้สึกอึดอัด


อย่างไรก็ตาม การจะทำให้เกิดการคุยเรื่องเพศ พ่อแม่ต้องฝึกทักษะการสื่อสารเชิงบวก ต้องมีสติ ต้องจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง และพ่อแม่ผู้ปกครองต้องใช้คำถามปลายเปิด อย่าตัดสิน อย่าพึ่งดุด่า และพ่อแม่ควรจะอยู่กับลูก เล่นกับลูกให้มากที่สุด เพราะของเล่นที่ดีที่สุดของลูก คือ พ่อแม่